ทำไม ? ปริมาณวิตามินในเครื่องดื่มถึงต่ำกว่า Label Claim

 

1-1

จากบทความในนิตยสารฉลาดซื้อเผยผลตรวจ ‘เครื่องดื่มผสมวิตามินซี’ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบว่าเครื่องดื่มผสมวิตามินซีส่วนใหญ่ที่ทำการทดสอบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าถึง 33 จาก 47 ตัวอย่างที่ทำการทดสอบ และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี1

จากบทความข้างต้นเครื่องดื่มผสมวิตามินซีถือว่าเป็นอาหารซึ่งการเติมวิตามินซีเข้าไป ตามกฎหมายผู้ประกอบการจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเติมสารอาหารในผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งได้กำหนดปริมาณสูงสุดของการเติมวิตามินที่ละลายได้ในน้ำไว้ที่ 200 เปอร์เซ็นต์ ของ Thai RDI สำหรับปริมาณวิตามินซี คือ ไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น เมื่อผลการตรวจพบปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แสดงไว้บนฉลาก จัดเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และหากผลการตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซีแต่ฉลากระบุว่ามีวิตามินซี จะเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม และถ้าหากพบปริมาณวิตามินซีมากเกินกว่า 200% ของ Thai RDI (120 มิลลิกรัมต่อวัน) อย. จะแจ้งผู้ประกอบการมายื่นหลักฐานการศึกษาการคงสภาพวิตามินซีตลอดอายุการเก็บรักษามาประกอบการพิจารณา โดยปริมาณวิตามินซีต้องไม่เกินระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ2 นอกจากนั้นการหาข่าวเพิ่มเติมพบว่า มีการชี้แจงจากบริษัทที่ตรวจไม่พบวิตามินซีในผลิตภัณฑ์ โดยแนบใบรับรองการตรวจวิเคราะห์จากโรงงานว่าหลังจากผลิตตรวจพบวิตามินซีปริมาณ 120 มิลลิกรัมในผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อสุ่มจากในตลาดมาตรวจวิเคราะห์แล้วไม่พบอาจเกิดจากการสลายตัวของวิตามินซี

เนื่องจากวิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายน้ำและสลายตัวได้ง่าย โดยกลไกการสลายตัวของวิตามินซี เกิดจากการที่วิตามินซี หรือ Ascorbic acid (reduced form) ถูกออกซิไดซ์ด้วยออกซิเจนในอากาศได้เป็น Dehydroascorbic acid (oxidized form) ซึ่งเป็นฟอร์มที่ไม่มีฤทธิ์ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการของ Glutathione (GSH) ในร่างกายสามารถรีไซเคิลให้กลับมาเป็น Ascorbic acid ได้ 3 แต่ถ้าหาก Dehydroascorbic acid ถูกน้ำในสิ่งแวดล้อมไฮโดรไลซิสจะกลายเป็น 2,3-diketogulonic acid ซึ่งจะสูญเสียคุณสมบัติในการเป็นวิตามินไป 4 ดังรูปที่ 1

2-1

จากข้อมูลข้างต้นทำให้ทราบถึงกระบวนการสลายตัวของวิตามินซี และจากการค้นคว้าพบว่าปัจจัยที่เร่งการสลายตัวของวิตามินซี มีดังนี้ อุณหภูมิ, แสงสว่าง, ก๊าซออกซิเจน, ปริมาณน้ำอิสระ (Water activity, Metallic catalysts (เช่น Cu2+, Fe3+, and Ag+), ความเป็นกรดด่าง, เอนไซม์ 5 ซึ่งปัจจัยต่างๆในข้างต้น สามารถพบได้ทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบรรจุขวด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องอุณหภูมิในการจัดส่งหรือจัดเก็บเครื่องดื่มที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ปัจจัยเรื่องแสงสว่างที่โดยปกติขวดจะต้องสวยและดึงดูดผู้บริโภคจึงนิยมทำเป็นขวดหลากสี ลักษณะใสๆ แต่ประสิทธิภาพการป้องกันอาจไม่ดีเท่าบรรจุภัณฑ์ทึบแสงสีเข้ม ปัจจัยเรื่องก๊าซออกซิเจนที่น้ำสะอาดมักจะมีปริมาณออกซิเจนสูง, ปัจจัยเรื่องปริมาณน้ำอิสระซึ่งมีสูงเพราะมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำหรือปัจจัยที่อาจปนเปื้อนโลหะเหล็กจากเครื่องจักรที่ใช้ในการผสมหรือบรรจุได้

ดังนั้นจากปัจจัยต่างๆที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เมื่อผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้กระจายสินค้าหรือผู้บริโภคแล้วปริมาณวิตามินซีจึงลดลงอย่างมาก จากกรณีบทความในข้างต้นเมื่อนำตัวอย่างน้ำดื่มผสมวิตามินซีในตลาดไปตรวจวิเคราะห์ ปริมาณวิตามินซีที่ตรวจพบจึงน้อยกว่าฉลาก ผู้ประกอบการบางแห่งจึงเลือกที่จะแก้ปัญหานี้โดยการใส่วิตามินซีให้สูงกว่าปริมาณที่ระบุไว้บนฉลาก (มากกว่า 120 มิลลิกรัม) แต่ยังอยู่ในช่วงที่ปลอดภัยต่อการรับประทาน เพื่อให้เมื่อถึงมือผู้บริโภคยังมีปริมาณวิตามินซีสูงกว่าที่กำหนดไว้ในฉลากแม้วิตามินซีจะสลายตัวไปมากแล้วก็ตามหรือการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เช่น การเปลี่ยนสีบรรจุภัณฑ์ให้เป็นสีเขียวเข้มเพื่อลดผลกระทบจากแสง การเปลี่ยนลักษณะของบรรจุภัณฑ์ให้เป็นชนิดบรรจุในฝาเกลียวแล้วถ้าจะรับประทานให้ผู้บริโภคกดผสมในน้ำเปล่าซึ่งสามารถลดปัจจัยเร่งการสลายได้ทั้งในแง่ของแสงสว่าง ก๊าซออกซิเจนและปริมาณน้ำอิสระ

การเลือกดื่มเครื่องดื่มผสมวิตามินซีซึ่งเป็นวิตามินที่สลายตัวได้ง่ายและทำให้ปริมาณวิตามินซีที่เมื่อส่งถึงมือผู้บริโภคมีปริมาณแตกต่างไปจากฉลาก ดังนั้น ผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่น่าเชื่อถือมีมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพการผลิตและควรคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่เก็บรักษารวมไปถึงสถานที่ที่ใช้จัดเก็บควรหลีกเลี่ยงที่ร้อนและถูกแสง เพราะเป็นปัจจัยที่เร่งให้วิตามินซีสลายตัว นอกจากนั้นวันที่ผลิตเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรคำนึง เพราะ ผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่ผสมในน้ำเป็นเวลานานจะสลายตัวไปมากกว่าและมีปริมาณวิตามินซีน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งผลิต

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการสอบถามเรื่องการผลิตอาหารเสริม / วัตถุดิบอาหารเสริม / วิจัยอาหารเสริม คลิกติดต่อทีมขาย

New Customer

3C's Customer


 

เอกสารอ้างอิง

  1. ปราญ สุวรรณทัต. 2563. นิตยสารฉลาดซื้อทดสอบเครื่องดื่มวิตามินซี 47 ตัวอย่าง พบว่า 8 ตัวอย่างไม่มีวิตามินซีเลย. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2564, เข้าถึงจาก https://brandinside.asia/vitamin-c-drink-no-vitamin-c/
  2. อย. แจงปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มต้องตรงตามฉลาก. 2563. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2564, เข้าถึงจาก https://www.newtv.co.th/m/news/?id=72094
  3. Azzi, Angelo. (2019). Tocopherols, tocotrienols and tocomonoenols: Many similar molecules but only one vitamin E. Redox Biology. 26. 101259. 10.1016/j.redox.2019.101259.
  4. Herbig AL, Renard CM. Factors that impact the stability of vitamin C at intermediate temperatures in a food matrix. Food Chem. 2017;220:444-451. doi:10.1016/j.foodchem.2016.10.012
  5. Wang, Jun & Law, Chung & Mujumdar, A.. (2017). The Degradation Mechanism and Kinetics of Vitamin C in Fruits and Vegetables During Thermal Processing.

ส่งความคิดเห็น

ที่อยู่อีเมลของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่ ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *